วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อี้หวินซุปเปอร์มะม่วงพันธุ์ใหม่ที่น่าปลูก

        เมื่อครั้งผู้เขียนเดินทางกลับจากไต้หวันหลังสำเร็จการศึกษาเมื่อต้นปี 2555 มีเพื่อนๆพี่ๆหลายท่านถามผู้เขียนถึงมะม่วงพันธุ์หนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจของชาวสวนมะม่วงในเมืองไทย เพื่อนถามว่า ”รู้จักมะม่วงหยู่เหวินไหม” งงกิมกี่เลยครับท่าน ไม่น่าเชื่อว่าระหว่างการศึกษาในไต้หวันไปทัศนศึกษาชมสวนมะม่วงมาหลายที่กลับไม่เคยได้ยินชื่อนี้ เมื่อถามเพื่อนว่าผลมีลักษณะอย่างไรปรากฏว่ามันคล้ายกับมะม่วงพันธุ์หนึ่งที่ผลใหญ่มากคือพันธุ์อี้เหวิน เพื่อความถูกต้องทำให้ผู้เขียนต้องเข้าไปค้นข้อมูลภาษาจีนของมะม่วงพันธุ์นี้ แล้วก้อถึงบางอ้อ มะม่วงพันธุ์นี้คือหยู่เหวินจริงๆ แต่คนไต้หวันส่วนใหญ่แม้แต่เพื่อนไต้หวันที่เรียนด้วยกันเรียกว่าอี้เหวิน (Yiwen) สาเหตุคงต้องไปถามเพื่อนอีกที
                                                                       มะม่วงอี้เหวินหรือหยู่เหวิน
         ถ้าเราพูดถึงมะม่วงเขาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มอินเดีย (indian type) กลุ่มนี้ผิวผลมีสีสันสวยงามสีเข้ม ส่วนใหญ่เป็นสีแดงหรือม่วง ผลมักกลม มีกลิ่นขี้ไต้ เมื่องอกจะให้ต้นกล้าต้นเดียว(monoembryony)  ส่วนกลุ่มถัดมาคือกลุ่มอินโดจีน(Indochinese type) เป็นมะม่วงที่ปลูกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สีผลมักเป็นสีเหลือง ผลส่วนใหญ่ยาวรี ไม่มีกลิ่นขี้ไต้ เมล็ดงอกให้ต้นกล้ามากกว่าหนึ่งต้น (polyembryony)  ในปัจจุบันตลาดต่างประเทศนิยมบริโภคมะม่วงที่มีสีสันสดใสเช่นสีม่วงแดง เนื่องจากมีสารต้านมะเร็งสูง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพ แนวโน้มการพัฒนามะม่วงของไทยอาจต้องปรับเปลี่ยนปรับปรุงพันธุ์เพื่อสร้างพันธ์ใหม่โดยนำพันธุ์การค้าคือน้ำดอกไม้ของเราไปผสมกับพันธุ์ต่างประเทศ จากสาเหตุนี้จึงมีเกษตรกรชาวไทยนำพันธุ์มะม่วงจากต่างประเทศเข้ามาทดสอบปลูกอยู่ตลอดเวลา แต่ที่ฮือฮาในขณะนี้คือ หยู่เหวิน (Yuwen, 玉文) หยู่แปลว่าหยก มะม่วงพันธุ์นี้มีประวัติความเป็นมาคือเป็นพันธุ์ลูกผสมที่ดำเนินการผสมพันธุ์ในปี 1995 โดยนายกั๋วเหวินจง (Guo Wen Zhong) ที่ตำบล Tamai เมืองไถหนาน (Tainan) ประเทศไต้หวัน โดยใช้พันธุ์จินหวง (Jinhuang, นวลคำ) ซึ่งมีลักษณะผลใหญ่ยาวรี มีเนื้อมาก เปลือกสีเหลืองทอง แต่มีข้อเสียคือเมื่อสุกเนื้อด้านในที่ติดเมล็ดมักนิ่มเละ เนื่องจากการสุกของผลจะสุกจากด้านในก่อน ด้วยลักษณะที่ผลใหญ่มาก กว่าจะสุกทั่วผลเนื้อด้านในก้อเละไปเสียก่อน พันธุ์นี้โครงการหลวงนำเข้ามาปลูกและเปลี่ยนชื่อพันธุ์เป็นนวลคำ ส่วนต้นพ่อที่ใช้ในการผสมพันธุ์คือพันธุ์อ้ายเหวิน (Aiwen) หรือพันธุ์ Irwin นั่นเอง เป็นพันธุ์การค้าหลักของไต้หวันที่ส่งออกไปญี่ปุ่น มีลักษณะผลค่อนข้างกลม สีม่วงแดง รสชาติหวานหอมอร่อยมาก แต่มีข้อเสียคืออ่อนแอต่อโรค
แอนแทรคโนส
                                                              ลักษณะทรงต้นและช่อดอกของหยู่เหวิน
        เมื่อผสมพันธุ์ออกมาก้อได้ต้นกล้ามาหลายเบอร์ แต่ต้นที่ทดสอบแล้วมีลักษณะดีเด่นคือ หยู่เหวินเบอร์ 6 (Yuwen No.6) มีช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตในไต้หวันในช่วงต้นเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม  ลักษณะใบใหญ่ยาวรี เขียวเข้ม ช่อดอกยาวใหญ่สีม่วงแดง แต่ติดผลต่ำ ประมาณ 1-2 ผลต่อช่อ ผลแก่ที่ยังไม่สุกรสมันจืด ผลโตยาวรีใหญ่กว่าพันธุ์เออร์วินประมาณสองเท่า น้ำหนักผลประมาณ 659- 1,000 กรัม น้ำหนักเมล็ดประมาณ 49 กรัม(6% ของน้ำหนักผล) ปริมาณเนื้อมากเมล็ดค่อนข้างลีบ ค่าดัชนีความหวาน(TSS) 17-19% ปริมาณกรดต่ำมากเท่ากับ 0.16% อัตราส่วนของน้ำตาลต่อกรดเท่ากับ 94 มีกลิ่นหอมรสชาติดีมาก(หวาน) เนื้อเหนียวไม่เละ ไม่มีอาการเนื้อด้านในเละเมื่อสุก ทนทานต่อโรคแอนแทรคโนสดีกว่าพันธุ์เออร์วิน  มะม่วงพันธุ์นี้เมื่อนำมาแปรรูปแช่น้ำผึ้งอบแห้งมีรสชาติอร่อยมาก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชือของเมืองไถหนานทีเดียว เมื่อกล่าวโดยสรุปมะม่วงพันธุ์นี้เป็นพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่นน่าสนใจทดลองปลูก หรือนำมาเป็นต้นพ่อแม่พันธุ์ในการผสมข้ามกับมะม่วงของไทยเพื่อสร้างพันธุ์ใหม่เพื่อการส่งอกของไทยในอนาคต

2 ความคิดเห็น:

  1. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล
    e-mail:warinsu@yahoo.co.th

    ตอบลบ
  2. สอบถามกิ่งพันธุ์มะม่วงไทยและสายพันธุ์ต่างประเทศ
    โทร.0814553737 ไอดีไลน์:benjawat1999

    ตอบลบ